CSLCS: ภาวะการครองชีพข้าราชการพลเรือน (2540-2549)
สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ดำเนินการสำรวจภาวะการครองชีพของข้าราชการพลเรือนสามัญขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2532 ตามคำขอของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้เป็นแนวทางประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายของรัฐเกี่ยวกับเงินเดือนและค่าตอบแทน ให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในขณะนั้น ต่อมาในปี 2534 สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ได้ขอให้สำนักงานสถิติแห่งชาติทำการสำรวจอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อให้ทราบถึงภาวะการครองชีพของข้าราชการพลเรือนที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากที่ได้มีการปรับใช้บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการบัญชี ข. เมื่อ 1 เมษายน 2533 และได้เพิ่มข้อถามเกี่ยวกับสวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลที่ได้รับจากรัฐ เพื่อให้ทราบถึงความต้องการและทัศนคติของข้าราชการในด้านสวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูลต่าง ๆ ต่อมาได้มีการปรับใช้บัญชีอัตราเงินเดือนข้าราชการใหม่อีก 2 ครั้ง เมื่อ 1 เมษายน 2535 และ 1 ตุลาคม 2537 เพื่อให้เหมาะสมกับภาวะการครองชีพและให้ทัดเทียมภาคเอกชนมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต่อเนื่อง สำนักงานสถิติแห่งชาติ จึงได้จัดทำโครงการนี้เป็นประจำทุกระยะ 2 ปี (ปี 2546 ไม่ได้ทำการสำรวจ เลื่อนมาทำในปี 2547 แทน)
วัตถุประสงค์
เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย ภาวะหนี้สิน สภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัวข้าราชการ ตลอดจนความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับสวัสดิการที่ข้าราชการได้รับจากรัฐ เพื่อนำมาใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงค่าตอบแทนให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
ขอบข่ายและคุ้มรวมของการสํารวจ
การสำรวจนี้ คุ้มรวมเฉพาะข้าราชการพลเรือนสามัญ ระดับ 1-8 ทั่วประเทศ ไม่รวมข้าราชการส่วนท้องถินอัยการ ตุลาการ ทหาร ตำรวจ ครู และข้าราชการการเมือง
ระเบียบวิธีและการดำเนินงานสำรวจ
แผนการสุ่มตัวอย่างที่ใช้เป็นแบบ Stratified Random Sampling โดยมี ตอนพิเศษ (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ) และภาค เป็นสตราตัม รวมทั้งสิ้น 5 สตราตัม ข้าราชการพลเรือนสามัญเป็นหน่วยตัวอย่าง
การเก็บรวบรวมข้อมูล โดยการส่งพนักงานออกไปสัมภาษณ์ข้าราชการพลเรือนสามัญ ที่ได้รับเลือกเป็นตัวอย่าง
รายการข้อมูลที่เก็บรวบรวม
– ข้อมูลทั่วไป ได้แก่ เพศ อายุ อายุราชการ วุฒิการศึกษา เป็นต้น
– จำนวนสมาชิกในครอบครัว
– จำนวนผู้ที่อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดู
– ประเภทของที่อยู่อาศัย และสภาพการอยู่อาศัย
– รายได้ และค่าใช้จ่ายของครอบครัว
– ภาวะหนี้สิน
– ทัศนคติเกี่ยวกับได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และสวัสดิการ